ค้นคว้าบทความวิจัยจากฐานข้อมูล Thaijo
ค้นคว้าบทความวิจัยจากฐานข้อมูล www.tci-thaijo.org
บทความเรื่อง
ผลการจัดการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลร่วมกับเกมการศึกษาที่มีต่อทักษะการทํางานร่วมกันของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบทักษะการทำงานร่วมกันก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลร่วมกับเกมการศึกษาของนักเรียนกลุ่มทดลอง และการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลเพียงอย่างเดียวของนักเรียนกลุ่มควบคุม และ 2) เปรียบเทียบทักษะการทำงานร่วมกันหลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลร่วมกับเกมการศึกษาของนักเรียนกลุ่มทดลอง และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลเพียงอย่างเดียวของกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ที่กำลังศึกษาภาคปลาย ปีการศึกษา 2561 จำนวน 70 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสังเกตทักษะการทำงานร่วมกัน แบบประเมินทักษะการทำงานร่วมกัน (ประเมินตนเองและประเมินโดยเพื่อน) แผนการจัดการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิล ร่วมกับเกมการศึกษา และแผนการจัดการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลเพียงอย่างเดียว วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลร่วมกับเกมการศึกษา และนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลเพียงอย่างเดียว มีทักษะการทำงานร่วมกันหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลร่วมกับเกมการศึกษามีทักษะการทำงานร่วมกันหลังการทดลองทั้ง 3 ด้าน สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลเพียงอย่างเดียว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ความรู้และประโยชน์ที่ได้รับ
งานวิจัยนี้มีประโยชน์มากสำหรับเรา เพราะสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เช่นเดียวกัน สามารถนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในการสอนเด็กได้ เรื่องที่เน้นย้ำในงานวิจัยชิ้นนี้มีเรื่องทักษะที่สำคัญและจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งก็คือ การฝึกให้เด็กเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และพัฒนาทักษะทางสังคม เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต
โดยผลการวิจัยพบว่าการเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบ Carousel สามารถพัฒนาทักษะการเขียนอธิบายให้กับผู้เรียนได้ นอกจากนี้การเรียนรู้โดยการใช้กลวิธีการสอนแบบ Carousel ยังช่วยช่วยพัฒนาความกระตือรือร้นในการเรียนได้ดี รวมทั้งยังช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทักษะการทำงานร่วมกันและช่วยพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง นอกจากนี้การนำเกมเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1 โดยเฉพาะเกมการศึกษา เพราะเกมการศึกษาเป็นกิจกรรมการสอนรูปแบบหนึ่งที่สอดคล้องตามทฤษฎีการเรียนรู้ของเด็ก คือ จัดให้เด็กได้เรียนรู้จากการเล่น และเล่นจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม เกมการศึกษา จึงเป็นกิจกรรมการเล่นที่ช่วยฝึกทักษะด้านต่างๆ อันเป็นพื้นฐานการเรียนในระดับประถมศึกษาซึ่งการเล่นเกมการศึกษานอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้แล้วยังช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานกระตือรือร้นในการเรียน รวมทั้งยังช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคม รู้จักความรับผิดชอบ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามัคคี รู้จักการเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ แบ่งปัน ยอมรับกันและรู้จักการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เกมการศึกษาจึงเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อการฝึกทักษะ ช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน รวมทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ปรึกษาและร่วมมือกันซึ่งช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้นได้ โดยผลการวิจัยพบว่าควรใช้เกมเป็นวิธีการเสริมแรงในการเรียนมากกว่าการสอนแบบธรรมดา เพราะการสอนโดยใช้เกมเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พบปะกัน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันและมีการแข่งขัน นอกจากนี้การใช้เกมการศึกษายังสามารถช่วยพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมให้กับ ดังนั้นหากนำเกมเข้ามาบูรณาการกับการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลน่าจะช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนได้เกิดความสนุกสนานจากการเล่นเกมและยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนคิดและได้ทำงานร่วมกับเพื่อนจากกลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลด้วยซึ่งอาจช่วยพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันได้
โดยผู้วิจัยได้สรุปขั้นตอนของการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลร่วมกับเกมการศึกษาดังนี้
1. แบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยคละความสามารถ
2. สมาชิกในกลุ่มจะร่วมกันเล่นเกมการศึกษาตามที่ผู้สอนจัดเตรียมขึ้นเพื่อตอบคำถามจากประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้ โดยเป็นเกมที่มีกติกา และวิธีการเล่น และมีการแบ่งบทบาทให้กับผู้เล่น เพื่อให้ผู้เล่นได้มีปฏิสัมพันธ์จากการเล่นเกมร่วมกัน
3. หลังจากเล่มเกมเรียบร้อยแล้ว สมาชิกในกลุ่มต้องระดมสมองเพื่อตอบคำถามหรือปัญหาที่ติดอยู่รอบห้องเรียน โดยในแต่ละกลุ่มจะได้ปากกาในการเขียนคำตอบที่มี สีไม่เหมือนกัน
4. สมาชิกในกลุ่มเวียนไปตรวจสอบคำตอบของกลุ่มถัดไปว่าเห็นด้วยหรือไม่ จากนั้นเล่นเกมและตอบคำถามจนครบทุกคำถาม โดยต้องไม่เขียนคำตอบซ้ำกับกลุ่มที่ตอบก่อนหน้า
5. ครูและนักเรียนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นผู้วิจัยจึงได้เลือกวิธีการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยการใช้กลวิธีการสอนแบบคาเริสเซิลที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดตอบคำถามผ่านการพูดคุยปรึกษาและระดมสมองเป็นกลุ่ม โดยผู้วิจัยนำเทคนิคนี้มาใช้ร่วมกับเกมการศึกษาเพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกันของผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1 ให้มีความสามารถในการเป็นผู้นำ เป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่มรู้จักกระบวนการทำงานร่วมกัน รวมถึงเกิดเจตคติที่ดีในการทำงานร่วมกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำกิจกรรมในการเรียนวิชาอื่นๆ และการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต
อ้างอิง https://www.tci-thaijo.org/index.php/OJED/article/view/199113
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น